รูปแบบการสุ่มตัวอย่าง (Sampling Framework)

กลุ่มตัวอย่างของฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ประกอบไปด้วยกลุ่มตัวอย่าง 2 ชุดที่คาบเกี่ยวกัน กลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample) เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เริ่มสำรวจในปี 2558 และกลุ่มตัวอย่างที่สอง (second generation sample) เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เริ่มสำรวจในปี 2559

1. กลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample)
กลุ่มตัวอย่างชุดนี้ประกอบไปด้วย เด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 2-5 ปี ณ เดือนมิถุนายน 2558 ที่สุ่มเลือกจากเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพหรือไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Thailand) ในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ จำนวน 50 ศูนย์ ศูนย์ฯ ละ 25 คน โดยในศูนย์ฯ ที่มีเด็กน้อยกว่า 25 คน จะเลือกเด็กทุกคนในศูนย์ฯ เป็นกลุ่มตัวอย่าง ส่วนศูนย์ฯ ที่มีเด็กมากกว่า 25 คน จะสุ่มเลือกจำนวน 25 คน โดยแบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี จำนวน 10 คน และเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไปจำนวน 15 คน (ดูรูปด้านล่างประกอบ) หากช่วงอายุใดมีจำนวนตัวอย่างไม่ครบ จะสุ่มเลือกเพิ่มจากอีกกลุ่มอายุหนึ่งมาทดแทนให้ครบ 25 คน โดยสรุป กลุ่มตัวอย่างแรกซึ่งสำรวจในปี 2558 มีเด็กปฐมวัยทั้งหมด 1,054 คน จาก 1,006 ครัวเรือน ใน 29 ตำบล 262 หมู่บ้าน[1]

รูปที่ 1 : แผนผังการสุ่มตัวอย่างสำหรับกลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample)

อย่างไรก็ตาม การสุ่มเลือกตัวอย่างเด็กปฐมวัยที่เข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำให้เกิดอุปสรรคสำคัญ 2 ประการคือ 1) ค่าใช้จ่ายและเวลาการเดินทาง ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample) กระจายอยู่ในพื้นที่ 262 หมู่บ้าน 29 ตำบล ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรและระยะเวลาในการเดินทางเพื่อการเก็บข้อมูลมากเกินไป 2) การเก็บข้อมูลเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เข้าเรียนแล้ว ไม่สามารถตอบโจทย์เกี่ยวกับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับปฐมวัย และโจทย์ของการเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ร่วมโครงการ ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว โครงการฯ จึงตัดสินใจเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่สอง (second generation sample) ขึ้นในปี 2559

2. กลุ่มตัวอย่างที่สอง (second generation sample)
กลุ่มตัวอย่างชุดนี้ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 1 – 4 ปี ณ เดือนมิถุนายน 2559 และอาศัยอยู่ในตำบลที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 23 ตำบล ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการฯ เริ่มจากการสำรวจสำมะโนประชากรเด็กอายุ 1-4 ปี เพื่อให้ทราบจำนวนเด็กอายุ 1-4 ปี ทุกหมู่บ้านใน 23 ตำบล โดยขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้อาสาสมัครสาธารณสุขช่วยเก็บข้อมูลสมาชิกครัวเรือนทุกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงแบ่งขนาดของหมู่บ้านในแต่ละตำบลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหมู่บ้านขนาดเล็ก (จำนวนเด็กน้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 30) กลุ่มหมู่บ้านขนาดกลาง (จำนวนเด็กอยู่ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 30-70) และกลุ่มหมู่บ้านขนาดใหญ่ (จำนวนเด็กมากกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 70) จากนั้นสุ่มเลือกหมู่บ้านขนาดเล็กจำนวน 1 หมู่บ้าน หมู่บ้านขนาดกลางจำนวน 2 หมู่บ้าน และหมู่บ้านขนาดใหญ่จำนวน 1 หมู่บ้าน จึงได้หมู่บ้านตัวอย่างตำบลละ 4 หมู่บ้าน รวม 92 หมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงกำหนดเป้าหมายเด็กกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กปฐมวัยที่มีอายุ 1-4 ปี ทุกคนในหมู่บ้านตัวอย่าง ทำให้ได้จำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างชุดแรกทั้งหมด 1,040 คน จาก 886 ครัวเรือน

รูปที่ 2 : แผนผังการสุ่มตัวอย่างสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่สอง (second generation sample)

3. กลุ่มตัวอย่างรวม (combined sample)
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การสำรวจข้อมูลสำหรับกลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample) นั้นมีอุปสรรคมากพอสมควร ทำให้โครงการฯ ตัดสินใจปรับเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่สอง (second generation sample) ขึ้นในปี 2559 แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างแรกก็มีคุณค่าต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากกลุ่มตัวอย่างทั้งสองชุดได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด โครงการฯ จึงได้นำเอาบางส่วนของกลุ่มตัวอย่างแรก (ประมาณร้อยละ 50) รวมกับทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างที่สอง ได้เป็นกลุ่มตัวอย่างรวม (combined sample) โดยในปี 2559 มีกลุ่มตัวอย่างหลัก (main sample) ทั้งหมด 1,369 คน ประกอบไปด้วย เด็กปฐมวัยจากกลุ่มตัวอย่างชุดแรกจำนวน 329 คน และกลุ่มตัวอย่างชุดที่สองทั้งหมด จำนวน 1,040 คน

นอกจากนี้ โครงการยังต้องการเก็บกลุ่มตัวอย่างชุดแรกไว้ประมาณร้อยละ 50 (จาก 1,054 ตัวอย่าง) ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนหมู่บ้านตัวอย่างอีกตำบลละ 2-3 หมู่บ้าน จึงพิจารณาคัดเลือกจากหมู่บ้านที่เหลืออยู่ ที่มีจำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่างชุดแรกมากที่สุด 2-3 อันดับแรก ทำให้ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม (extra sample) มาอีก 299 คน โดยสรุป ในปี 2559 มีตัวอย่างเด็กปฐมวัยในฐานข้อมูลทั้งหมด 1,668 คน

ส่วนในปี 2560 และ 2561 มีเด็กบางกลุ่มย้ายออกนอกพื้นที่สำรวจและบางครัวเรือนได้ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ทำให้ในปี 2560 มีตัวอย่างเด็กปฐมวัยในฐานข้อมูลทั้งหมด 1,507 คน จาก 1,284 ครัวเรือน (กลุ่มตัวอย่างหลัก 1,242 คน กลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม 265 คน) และในปี 2561 มีตัวอย่างเด็กปฐมวัยในฐานข้อมูลทั้งหมด 1,397 คน จาก 1,195 ครัวเรือน (กลุ่มตัวอย่างหลัก 1,148 คน กลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม 249 คน)

จำนวนตัวอย่างในฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data)
ตารางที่ 1 จำนวนกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยในฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ในแต่ละปี โดยแบ่งตามรูปแบบของการเก็บข้อมูลว่าเป็นการเริ่มเก็บ (baseline) หรือการติดตาม (resurvey)

ตารางที่ 2 : จำนวนครัวเรือนตัวอย่างในฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ในแต่ละปี โดยแบ่งตามรูปแบบของการเก็บข้อมูลว่าเป็นการเริ่มเก็บ (baseline) หรือการติดตาม (resurvey)

[1]อันที่จริงแล้ว นักวิจัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยจากจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ในปี 2558 ทั้งหมด 1,275 คน แต่มีเพียง 1,105 คน จาก 1,054 ครัวเรือน ที่มีข้อมูลทั้งครบทั้งในส่วนเด็กและครัวเรือน ซึ่งตรงกับจำนวนตัวอย่างที่รายงานใน Dihn and Kilenthong (2019) และ Chujan and Kilenthong (2020) ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยได้ตัดสินใจยกเลิกการเก็บข้อมูลในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีผลทำให้ตัวอย่างลดลงเหลือ 1,055 คน จาก 1,007 ครัวเรือน และในภายหลังนักวิจัยพบว่ามีเด็กตัวอย่าง 1 คนที่ถูกสุ่มเป็นตัวอย่างใหม่ในกลุ่มตัวอย่างที่ 2 (second generation sample) จึงได้ตัดสินใจตัดตัวอย่างนี้ออกจากกลุ่มตัวอย่างแรก (first generation sample)

Close Bitnami banner
Bitnami