RIECE Panel Data
ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) เป็นข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำที่เริ่มสำรวจตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยวางแผนที่จะจัดเก็บข้อมูลทุกปี ปีละรอบ ต่อเนื่องไปทุกปี โดยใช้มาตรฐานระดับนานาชาติเช่นเดียวกับข้อมูล Townsend Thai Data คือ 1) มีการตรวจสอบความถูกต้องของการกรอกแบบสอบถามถึงสองรอบก่อนนำเข้าข้อมูล (คีย์ข้อมูล) 2) มีการนำเข้าข้อมูลสองรอบ แล้ว 3) นำข้อมูลทั้งสองรอบมาเปรียบเทียบกัน ทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพของข้อมูล
ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำชุดนี้เป็นข้อมูลที่มีความโดดเด่นในแง่ความสมบูรณ์และครอบคลุมทุกมิติของเด็กปฐมวัยรายบุคคล ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน การศึกษาและสุขภาพของเด็กปฐมวัย รูปแบบและพฤติกรรมการเลี้ยงดู และรูปแบบและคุณภาพการเรียนการสอนของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งจากการรวบรวมและศึกษางานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่พบว่า มีฐานข้อมูลใดที่ครอบคลุมได้ทั้งข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลเด็กปฐมวัยรายบุคคล และข้อมูลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในคราวเดียวกัน (ตย. โครงการ Perry Preschool มีข้อมูลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ละเอียด แต่มีข้อมูลระดับครัวเรือนน้อยมาก) ดังจะเห็นได้จากความคิดเห็นใน Todd and Wolpin (2003) ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการและความจำเป็นของชุดข้อมูลที่มีทั้งข้อมูลจากครัวเรือนและโรงเรียน โดยแบบสอบถามด้านสภาพเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่ใช้เก็บข้อมูลนี้ ได้รับการพัฒนามาจากแบบสอบถามของ Townsend Thai Data ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีชื่อเสียงในวงการเศรษฐศาสตร์ ส่วนแบบสอบถามด้านการศึกษาและสุขภาพของเด็กปฐมวัย รูปแบบและพฤติกรรมการเลี้ยงดู และรูปแบบและคุณภาพการเรียนการสอนของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนามาจาก Cohort Study of Thai Children, Denver Developmental Screening Test, World Health Organization Quality of Life, National Educational Panel Study และ Early Childhood Longitudinal Program
(ดูรายละเอียดแบบสอบถามด้านล่าง)
ข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบตัวอย่างซ้ำไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Panel Data) ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปีจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนบางส่วนสำหรับการเก็บข้อมูลในปี 2562) และในส่วนการทำความสะอาดข้อมูล (data cleansing) ชุดที่สำรวจในปี 2558 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)