NEWS & EVENTS
เปิดห้องเรียนปฐมวัย บทเรียนครูทำร้ายเด็ก
1 ตุลาคม 2563
“ปัญหาความรุนแรงที่ครูกระทำต่อเด็กควรจบ”
สาเหตุของปัญหา คือ การบริหารจัดการ : การผูกขาดทางธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นผู้ปกครองระดับกลางซึ่งมีทางเลือกน้อย คือ มีกำลังในการจ่ายแต่ไม่ถึงขนาดโรงเรียนนานาชาติแต่ก็ไม่อยากไปอยู่ในกลุ่มของตลาดระดับล่าง ดังนั้นผู้ปกครองกลุ่มนี้จึงมีทางเลือกที่จำกัด ประกอบกับธุรกิจโรงเรียนเป็นธุรกิจที่ความพิเศษ คือ “จ่ายก่อนได้รับบริการทีหลัง” และการที่จะย้ายโรงเรียนของเด็กจากโรงเรียนหนึ่งไปโรงเรียนหนึ่งเกิดขึ้นยากมาก ดังนั้น โรงเรียนจึงมีอำนาจในการผูกขาด ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อการรักษาฐานลูกค้าไว้ ดังนั้นรัฐควรเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ปกครองกลุ่มนี้
กรณีใบประกอบวิชาชีพครู คือ ตัวชี้วัดสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา?
จากการศึกษาตลอดระยะเวลา 5 -6 ปีที่ผ่านมา ที่นำเอาหลักสูตร Highscope* มาใช้ พบว่า ใบประกอบวิชาชีพครูไม่ใช่สิ่งที่มีผลต่อคุณภาพทางการศึกษา แต่สิ่งที่มีผลต่อคุณภาพทางการศึกษา คือ การบริหารจัดการสถานศึกษา บุคลิกภาพครู วิธีการเรียนการสอน และการพัฒนาครู
“อยากให้สังคมถอยออกจากประเด็นของใบประกอบวิชาชีพครู และเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาของการบริหารจัดการ การใช้หลักสูตรแบบเร่งรัดให้เด็กเรียน ในขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันครู และทางโรงเรียนก็ไม่ได้มีการสนับสนุนครู ไม่ได้มีการสร้างบรรยากาศการศึกษาให้เด็กในการเรียนหนังสือ หรืออยากมาโรงเรียน เมื่อเด็กไม่อยากเรียนการควบคุมชั้นเรียนจึงเป็นไปได้ยาก ครูจึงไม่มีทางเลือกนอกจากการใช้อำนาจ ดังนั้นผู้ปกครองต้องตระหนักด้วยว่า การเรียนการสอนระดับปฐมวัยแบบใดที่จะช่วยพัฒนาลูกหลานได้อย่างแท้จริง ทั้งทางวิชาการ อารมณ์ สังคม และบุคลิกภาพ”
การแก้ปัญหา คือ การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมากขึ้นว่า ผู้ปกครองควรเลือกโรงเรียนอย่างไร?
เบื้องต้นคือ ให้สังเกตง่าย ๆ 3 อย่างด้วยกัน
1. ระดับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับเด็ก ระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียน ครูผู้สอนควรอยู่ในระดับความสูงเดียวกันกับเด็ก ครูควรจะย่อตัวลงมาคุยกับเด็กเป็นประจำ หรือเวลาสอนควรจะนั่งลงสอนในระดับเดียวกับที่เด็กนั่ง
2. สภาพห้องเรียน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ผ่อนคลาย ซึ่งควรประกอบด้วย การมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เช่นของเล่นประเภทต่างๆ และควรจะดูว่าเด็กได้ใช้อุปกรณ์หรือของเล่นเหล่านั้นเป็นประจำหรือไม่
3. การพูดคุยและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก โดยดูทั้งจากการใช้คำพูดและภาษากายของครู และสังเกตดูปฏิกิริยาของเด็กที่มีต่อครู ซึ่งแสดงออกถึงความชีวิตชีวา ความร่างเริงแจ่มใส และที่สำคัญ ให้สังเกตการตอบคำถามของครูเมื่อเด็กมีคำถาม เด็กวัยนี้ควรจะมีคำถามมากมาย หากพบว่าเด็กไม่ค่อยถาม คงต้องระมัดระวังให้ดี
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากครูในโรงเรียนกับเด็กในขณะนี้ จะส่งผลระยะยาว 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีวิตของเด็ก ดังนั้น ผู้ใหญ่และนักการศึกษารวมทั้งผู้ปกครองต้องดึงเด็กกลุ่มนี้กลับมาสู่กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เล่น ได้เรียน ได้ทำกิจกรรม เพื่อให้พวกเขากลับมามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้
ผู้ปกครองควรคาดหวังอะไรจากการศึกษา?
“สิ่งที่ผู้ปกครองต้องตระหนัก คือ คนเราเรียนรู้กันในระยะยาว ไม่ใช่แค่ระดับอนุบาล ระดับประถม หรือมัธยม และระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเรียนรู้ เราเรียนกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือ การเรียนที่ดีคือการค่อย ๆ ไต่ระดับ แน่นอนว่าคนที่เรียนรู้ได้มากกว่าในช่วงแรกจะดีกว่า หากการเรียนรู้นั้นมีที่มาจากความสนใจของเด็ก สุดท้ายแล้วหากเด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่อยากเรียนรู้ สิ่งที่เรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดมันก็ไร้ความหมาย เพราะสิ่งที่เอามาใช้จริง ๆ มันอยู่ที่ปลายทาง”
เราจึงควรให้ความสนใจที่จะสร้างเด็กที่อยากเรียนรู้ เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเรียนรู้อะไรได้เยอะขึ้น
สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางจิตใจและสังคม เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่อยากเรียนรู้ในอนาคต การส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ วางแผน และทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ใช้สำหรับสอบเข้าตอนป.1 แต่จะเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในตัวของเขา และเขาจะเป็นคนที่แก้ปัญหาได้ในอนาคต
สำหรับโรงเรียนทางเลือก คือ ตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ปกครอง ซึ่งมีการสอนเชิงวิชาการด้วย แต่นั่นไม่ใช่จุดขายของโรงเรียนทางเลือก ทั้งนี้หลักสูตรที่ดี คือ หลักสูตรที่สามารถหาจุดตรงกลาง คือเด็กได้ความรู้ทางวิชาการด้วย และได้ทักษะทางสังคมด้วย ได้เล่น ได้ทำกิจกรรม ได้ทักษะที่นำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก
“ประเด็นสำคัญคือ เขาควรจะเรียนรู้อย่างไร เพื่อให้ได้วิชาการเพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตให้ได้ดีที่สุด วิธีเดิม ๆ ผมมั่นใจว่ามันไม่เวิร์ค เพราะถ้ามันเวิร์คผลสอบ PISA ที่ใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยก็คงไม่ต่ำอย่างที่เป็นอยู่”
ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองที่บ้าน มีความสำคัญในแง่ของการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ต้องสร้าง เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี
การบริหารจัดการความเสี่ยง : การมีกล้องวงจรปิด เป็นเรื่องที่ดี แน่นอนว่าลำพังผู้บริหารคงไม่สามารถดูได้ทั้งหมด ดังนั้น การดึงผู้ปกครองเข้ามีส่วนร่วมการเฝ้าสังเกตการณ์ คือ การให้ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงการดูกล้องวงจรปิดได้ เป็นการเข้ามามีส่วนช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงของโรงเรียน ความเสี่ยงที่ว่าคือความเสี่ยงที่ครูจะทำไม่ดีกับเด็ก
การให้ความรู้ความเข้าใจ และตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงของโรงเรียน นำสู่การวางแผนเพื่อจัดหามาตรการป้องกันและตรวจสอบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
อีกทั้งการสังเกตของผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญ การเห็นสัญญาณจากเด็ก เด็กที่งอแงไม่ยอมไปโรงเรียน ควรเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะสั้นไม่ใช่ต่อเนื่อง เพราะหากต่อเนื่องอาจเกิดจากสาเหตุอื่น
ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาฯ
1. ส่งเสริมทางเลือกให้กับผู้ปกครองมากขึ้น
2. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มากขึ้น
3. ให้ความรู้แก่สาธารณะมากขึ้น ว่าการศึกษาปฐมวัยแบบไหน ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการบุตรหลานได้มากขึ้น และการศึกษาต้องให้คำตอบแก่ผู้ปกครอง
………………………..
*Highscope : คือหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาเด็กโดยใช้กระบวนการ วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน (Plan-Do-Review) ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และรู้จักอดทนรอคอย ส่วนในขั้นตอนการลงมือทำ เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเองอย่างกระตือรือร้น ได้เรียนรู้จากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนได้ใช้ความคิดในการลงมือปฏิบัติ และได้สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน โดยเด็กแต่ละคนจะได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำทุก ๆ สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการเป็นผู้นำ และทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้เต็มศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรไฮสโคป
โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไรซ์ไทยแลนด์” ส่งเสริมให้สถานศึกษาทั่วประเทศใช้หลักสูตรไฮสโคปในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีเป้าหมายในการสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่เด็กปฐมวัยเพื่อช่วยให้เด็กปฐมวัยเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในการผลิตเพียงพอที่จะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัว มีศักยภาพภายเพียงพอที่จะสามารถดูแลตนเองและครอบครัว มีความรับผิดชอบต่อสังคม ท่านสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้จาก http://riece.org/ และ https://www.facebook.com/RIECEThailand/
นอกจากนี้ยังได้มีการเผยแพร่ข้อมูล (RIECE Panel Data) สำหรับท่านที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ทางการวิจัยได้ที่ http://riped.org/riece-panel-data-list/
ชมย้อนหลังได้ที่: Link