โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทย

รายละเอียดโครงการฯ

การสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย มีที่มาจากการริเริ่มของภาคการศึกษาที่พยายามผลักดันการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีหลักฐานงานวิจัยจำนวนมากรองรับว่า ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมให้เด็กมีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับที่เหมาะสม จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต

ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) ในโครงการนี้หมายถึง ความพร้อมที่เด็กปฐมวัยจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเด็กได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา โดยกำหนดให้ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) ประกอบด้วย 3 มิติคือ 1. ความพร้อมของเด็กปฐมวัย (readiness in the children) 2. ความพร้อมของสถานศึกษา (school’s readiness for children) 3. ความพร้อมของครอบครัว (family’s readiness for children)

โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย เกิดจากความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ (Thailand School Readiness Database) และจัดเก็บข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทยแบบออนไลน์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) และเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย และการขับเคลื่อนสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย โดยมีการกำหนดระยะการดำเนินงานของโครงการไว้ 5 ระยะ นับตั้งแต่ปี 2560 – 2565

โครงการระยะที่ 1 (ปี 2560 – 2561) เน้นที่การพัฒนาชุดเครื่องมือสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย และได้นำชุดเครื่องมือไปทดลองเก็บข้อมูลภาคสนามในจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดภูเก็ต ผลลัพธ์ที่ได้ในระยะนี้คือ ชุดเครื่องมือสำรวจที่มีประสิทธิภาพและพร้อมนำไปใช้ในการสำรวจและขยายผลต่อไป >> อ่านต่อ (Full Report Phase 1)

โครงการระยะที่ 2 (ปี 2561 – 2562) เป็นการนำชุดเครื่องมือที่พัฒนามาจากระยะที่ 1 ไปขยายผลใน 5 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ (ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง ภูเก็ต และเชียงใหม่) ผลลัพธ์สำคัญของโครงการในระยะนี้คือ การได้เรียนรู้ เข้าใจถึงปัญหา ข้อจำกัด และอุปสรรคในการดำเนินงานภาคสนามได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้เกิดความมั่นใจและความพร้อมในการวางแผนและออกแบบการสำรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ในระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป >> อ่านต่อ (Full Report Phase 2)

โครงการในระยะที่ 3 (ปี 2562 – 2563) เป็นการขยายผลการสำรวจออกไปยัง 19 จังหวัด (เชียงราย แพร่ ลำปาง ลำพูน อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี พัทลุง ปัตตานี สงขลา ยะลา สตูล และนราธิวาส) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลสถานะความพร้อมฯ สำหรับประเทศไทย (Thailand School Readiness Database) ที่จะมีข้อมูลความพร้อมฯ ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ภายในปี 2565 ข้อมูลที่ได้นี้จะนำไปสู่การสร้างความรู้ที่จะสนับสนุนการดำเนินงาน และการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที >> อ่านต่อ (Full Report Phase 3)

โครงการในระยะที่ 4 (ปี 2563-2564) มีพื้นที่ดำเนินงานขยายออกไปทั้งหมด 23 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายในการสำรวจคือ นักเรียนที่กำลังจะเลื่อนชั้นไปเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีถัดไป (บางโรงเรียนอาจเรียกว่า อนุบาล 2 หรืออนุบาล 3) ในแต่ละจังหวัด ทีมวิจัยจะสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยที่เรียนในระดับอนุบาล 3 จำนวน 500 คน โดยวิธีการทางสถิติ การสำรวจใช้ชุดเครื่องมือ 5 ชุดคือ แบบทดสอบพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยวิธีการวัดโดยตรง แบบสอบถามผู้ปกครอง แบบสอบถามคุณครูประจำชั้น แบบสอบถามผู้บริหารสถานศึกษา และแบบสังเกตห้องเรียน

โครงการในระยะที่ 5 (ปี 2564-2565) เป็นระยะปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 33 จังหวัด โดย กลุ่มเป้าหมายในการสำรวจคือ นักเรียนที่กำลังจะเลื่อนชั้นไปเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีถัดไป (บางโรงเรียนอาจเรียกว่า อนุบาล 2 หรืออนุบาล 3) ในแต่ละจังหวัด ทีมวิจัยจะสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยที่เรียนในระดับอนุบาล 3 จำนวน 500 คน โดยวิธีการทางสถิติ การสำรวจใช้ชุดเครื่องมือ 5 ชุดคือ แบบทดสอบพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยวิธีการวัดโดยตรง แบบสอบถามผู้ปกครอง แบบสอบถามคุณครูประจำชั้น แบบสอบถามผู้บริหารสถานศึกษา และแบบสังเกตห้องเรียน